ปวดประจำเดือน
ผู้หญิงเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เริ่มมีประจำเดือน บางคนอาจจะเริ่มมีอาการปวดประจำเดือนตั้งแต่ครั้งแรกของการมีประจำเดือน บางคนเริ่มมามีอาการปวดประจำเดือนหลังการมีประจำเดือนครั้งแรกไปแล้วหลายปี บางคนอาการปวดประจำเดือนดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น หลังแต่งงานหรือหลังมีลูกแล้ว
อาการปวดประจำเดือนที่พบได้มากคือรู้สึกปวดบีบ ปวดเกร็ง ปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย บางคนลามไปถึงบริเวณอุ้งเชิงกราน บางคนอาจรู้สึกถึงบริเวณรูทวาร เหมือนอยากถ่ายท้องตลอดเวลา อาจจะปวดตั้งแต่วันแรกที่ประจำเดือนมา แล้วอาการดีขึ้นหลังจากนั้น หรือบางคนอาจรู้สึกปวดตลอดระยะเวลาของการมีประจำเดือน
ในมุมมองของแพทย์แผนปัจจุบัน สาเหตุของอาการปวดประจำเดือนที่พบได้มาก คือ
1.สภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ สภาวะนี้คือเยื่อบุโพรงมดลูกเติบโตนอกโพรงมดลูก ส่วนมากจะเกิดสะสมที่บริเวณรังไข่ หรือที่เรียกว่า ช็อกโกแลตซีส
2. เนื้องอกในมดลูก เนื้องอกเหล่านี้ไม่ใช่เนื้อร้าย จึงไม่ก่อให้เกิดเซลล์มะเร็งในมดลูก แต่ทำให้มีอาการปวดประจำเดือน หรือประจำเดือนมามาก
หากต้องการตรวจหาสาเหตุโดยละเอียด ส่วนมากจะทำโดยวิธีการตรวจอัลตร้าซาวน์ค่ะ
การรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน ส่วนใหญ่หลักๆจะแบ่งเป็น การใช้ยาบรรเทาอาการปวดประจำเดือน การใช้ยาคุมกำเนิด หรือจะเป็นการผ่าตัดในกรณีที่เกิดเป็นเนื้องอกในมดลูกหรือสภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเอาเองว่าจะใช้วิธีไหน ขึ้นอยู่กับอาการและพยาธิสภาพของผู้ป่วย
ทีนี้เรามาพูดถึงอาการปวดประจำเดือนในมุมมองของแพทย์แผนจีนกันบ้างค่ะ
ในมุมมองแพทย์แผนจีนนั้นอารมณ์ พลังงานในร่างกายล้วนส่งผลถึงกัน เนื่องจากเพศหญิงในแต่ละเดือนร่างกายล้วนมีการเปลี่ยนอยู่ตลอด การเปลี่ยนแปลงของร่างกายนั้นส่งผลต่ออารมณ์ และอารมณ์ก็ส่งผลต่อร่างกายเช่นกัน ส่งผลกันไปมา นอกจากนี้ปัจจัยภายนอกอย่างสภาพอากาศ การบริโภคอาหารยังเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการปวดประจำเดือน เช่น อากาศที่หนาวเย็น เย็นชื้น แล้วเราใส่เสื้อผ้าไม่พอ หรือการกินแต่อาหารเย็นๆ หรืออาหารที่มีฤทธิ์เย็นอย่างต่อเนื่อง ล้วนส่งผลให้มีอาการปวดประจำเดือนได้
แบ่งสาเหตุอาการปวดประจำเดือนในมุมมองแพทย์จีน
1. เกิดจากภาวะชี่และเลือดติดขัด อาการที่สังเกตุคือประจำเดือนมาแล้วมีลิ่มเลือดมาก คัดหน้าอกอย่างมาก
2. มีพิษความชื้นและความเย็นในร่างกาย อาการสังเกตุคือปวดท้องน้อย ขี้หนาว ประจำเดือนสีคล้ำ
3. ภาวะชี่และเลือดพร่อง พลังงานในร่าางกายไม่เพียงพอ รู้สึกเหนื่อยง่าย ปริมาณประจำเดือนน้อยกว่าปกติ
4. พลังงานของตับและไตพร่อง สังเกตุคือรู้สึกมีอาการปวดเมื่อยเอว หูอื้อ วิงเวียนศีรษะร่วมด้วย
อย่างไรก็ตามคนไข้แต่ละคนอาจจะไม่ได้มีสาเหตุการปวดประจำเดือนจากภาวะใดภาวะหนึ่งเท่านั้น แต่อาจจะเป็นหลายๆภาวะร่วมกัน ต้องมาวินิจฉัยกันต่อไป
ทีนี้มาดูแนวทางการรักษากันบ้างค่ะ การรักษาทางแพทย์แผนจีนจะสามารถรักษาโดยการฝังเข็มได้ เพื่อบรรเทาอาการปวด ปรับสมดุลการไหลเวียนของพลังงานในร่างกาย หรือจะเป็นการใช้ยาสมุนไพรจีน ซึ่งจะใช้ตำหรับยาใดนั้นก็ต้องมาดูที่สาเหตุว่าอาการปวดเกิดจากอะไร
แนวทางการดูแลตนเองเบื้องต้น คือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะช่วยปรับสมดุลการหลั่งฮอร์โมนในร่างกายได้ ช่วยให้อารมณ์ดี ทานอาหารให้ครบห้าหมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอ การเลือกรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่มีฤทธิ์เย็น การทานของเย็นในช่วงที่ประจำเดือนใกล้จะมา หรือช่วงที่มีประจำเดือน ใส่เสื้อผ้าให้อบอุ่นเพียงพอเวลาที่อยู่ในที่ที่อากาศเย็น หรือการประคบถุงน้ำร้อนก็พอจะช่วยผ่อนคลายการเกร็งตัวของมดลูก ช่วยบรรเทาอาการปวดได้บ้างค่ะ