หัวข้อนี้หมอเหมียวจะมาไขข้อข้องใจระหว่าง Acupuncture vs Dry Needle ว่าต่างกันอย่างไร มาตามกันเลยค่ะ
หมอเหมียวขอพูดในส่วนของ Acupuncture ก่อนนะคะ
ก็คือการฝังเข็มตามจุดฝังเข็มที่อยู่บนเส้นลมปราณ ที่เชื่อมจุดฝังเข็ม นำพาพลังงานหรือชี่ เข้าสู่อวัยวะต่างๆภายใน การเลือกจุดฝังเข็มว่าจะใช้จุดอะไร รักษาโรคอะไรจะเป็นไปตามพื้นฐานของทฤษฎีแพทย์แผนจีน การเลือกจุดฝังเข็มจริงๆแล้วก็คล้ายๆกับการจ่ายยาสมุนไพรจีนที่จะมี Prescription ในการจัด เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนใหญ่แล้วการฝังเข็มเพื่อการรักษาโรค จุดมุ่งหมายมักจะเพื่อเข้าไปปรับสมดุลการทำงานของแต่ละอวัยวะภายในของร่างกาย เช่น คนไข้ที่เป็นโรคหอบหืด เราไม่จำเป็นต้องฝังเข็มที่ปอด แต่จะเลือกจุดที่กระตุ้นการทำงานของปอด ที่อาจจะอยู่บนปลายนิ้วมือ และเลือกจุดที่อยู่บนปลายเท้า เพื่อกระตุ้นการทำงานของไต ให้มาเสริมการทำงานของปอด เมื่อร่างกายมีการปรับตัว การทำงานของอวัยวะก็ดีขึ้น
หรืออีกตัวอย่างคือ อาการปวดประจำเดือน ก็สามารถเลือกจุดฝังเข็มบนขา ที่สามารถส่งผลต่อการทำงานของมดลูกได้ ช่วยให้มดลูกคลายตัว ทำให้ทุเลาอาการปวดประจำเดือน นอกจากนี้ยังต้องมาดูสาเหตุของอาการปวดประจำเดือนด้วย เพื่อเลือกจุดฝังเข็มอื่นๆเสริมเข้าไป
สิ่งที่หมอเหมียวอธิบายไปข้างต้น เพื่อให้เห็นภาพรวมว่าการฝังเข็มแบบ Acupuncture ภายใต้ทฤษฎีแพทย์แผนจีนนั้น ไม่จำเป็นต้องฝังบริเวณที่มีอาการเจ็บป่วยตรงไหน ก็ฝังตรงนั้น แต่จะเน้นการรักษาแบบภาพรวม ปรับ Function การทำงานของอวัยวะ ให้ทำงานดีขึ้น สอดคล้องกันมากขึ้น อาการเจ็บป่วยก็ทุเลาลง หากการฝังเข็มไม่เพียงพอ ก็ใช้ยาสมุนไพรจีนช่วย แต่ว่าในแง่ของการฝังบริเวณที่ปวด ปวดตรงไหนฝังตรงนั้น มีหรือไม่
ว่ากันตามตำราแพทย์จีนที่บันทึกสืบทอดกันมาเป็นพันปีนั้นมีมานานแล้ว แม้จะในตำราเรียนในมหาวิทยาลัยที่หมอเหมียวเรียนมาก็สอนกัน จุดฝังเข็มที่ว่า เรียกกันว่า อาซื่อเซว่ (阿是穴)คือ คนไข้รู้สึกเจ็บปวดตรงไหน ก็ฝังตรงนั้น กดตรงจุดนี้ ถามคนไข้ว่าใช่จุดนี้มั้ย คนไข้บอกใช่ๆ เราก็ฝังตรงนั้น ส่วนใหญ่มักใช้กับอาการปวด ซึ่งหมอเหมียวมองว่าการฝังเข็มด้วยเทคนิคนี้ ไม่แตกต่างจากการฝังเข็มแบบ Dry Needle มากนัก
ต่อไปหมอเหมียวขอมาพูดถึงเรื่อง Dry Needle กันบ้างค่ะ Dry Needle เป็นศาสตร์การฝังเข็มแบบตะวันตก ที่เรียกกันว่า Dry Needle ก็เพราะเมื่อก่อนจะใช้เข็มฉีดยามาทำการฝังลงไปบนกล้ามเนื้อคนไข้ แต่เข็มนั้นจะไม่ต่อกับหลอดฉีดยา ไม่มีการฉีดยาลงไป คือใช้เข็มแห้งๆปัก เลยเรียกกันว่า Dry Needle แล้วตอนหลังก็เปลี่ยนมาใช้เข็มสำหรับการฝังเข็มเพราะมีขนาดเล็กกว่า เวลาปักผ่านผิวหนัง คนไข้ก็เจ็บน้อยกว่ามาก การฝังเข็มด้วยเทคนิคนี้ อาจจะใช่ระยะเวลาเพียงสั้นๆ ไม่จำเป็นต้องคาเข็มไว้ก็ได้ หรือหมอบางคนอาจจะคาเข็มไว้ซัก 10-15 นาที ก็แล้วแต่เทคนิคของแต่ละคน
แล้วการรักษาแบบ Dry Needle เป็นอย่างไร เราต้องมาพูดถึง Trigger Point กันก่อนค่ะ โดยทั่วไปแล้วก็คือการปักเข็มไปตามจุดที่เรียกว่า Trigger Point ซึ่งก็คือจุดที่กล้ามเนื้อคนเราหดเกร็งแล้วขดตัวกันเป็นปม (ซึ่งปกติกล้ามเนื้อคนเราควรจะเรียงตัวกันอย่างดี มีความยืดหยุ่น หดเข้า หดออกได้ กล้ามเนื้อเราก็จะไม่มีอาการปวด) แล้ว Trigger Point ที่ขดตัวกันเป็นปมในกล้ามเนื้อเรานั้น ทำให้เลือดไหลเวียนเข้าไปในบริเวณนั้นไม่สะดวก เกิดการสะสมของของเสียที่ถูกปล่อยออกมาจากกล้ามเนื้อบริเวณนั้น แล้วยังทำให้ความปวดส่งผลไปยังบริเวณอื่นๆได้อีกด้วย เราเรียกบริเวณที่ปวดจาก Trigger Point ว่า Referred Pain การฝังเข็มลงไปบนจุด Trigger Point ก็เพื่อทำลายปมที่ขดๆกันในกล้ามเนื้อ ให้เส้นใยกล้ามเนื้อที่ขดขาดจากกัน ร่างกายต้องซ่อมแซมเส้นใยกล้ามเนื้อเหล่านี้ใหม่ เส้นใยเกิดการเรียงตัวใหม่ เลือดเข้าไปไหลเวียนในบริเวณนั้นได้ดีขึ้น เกิดการถ่ายเทของเสียออกมา อาการปวดก็ทุเลาลง แต่ว่าหลังจากรับการรักษาด้วยวิธีนี้ อาจจะรู้สึกระบมบริเวณที่ปักเข็มลงไปอีก 3-4 วัน
ดังนั้นกลุ่มอาการที่เหมาะสมกับการรักษาแบบ Dry Needle จะเป็นพวก Myofascial Pain Syndrome ก็คือกลุ่มอาการปวดตามกล้ามเนื้อ ที่เป็นผลมาจากจุดปวด Trigger Point นั่นเอง
การเลือกวิธีการรักษาว่าจะใช้แบบใดดี ก็ควรเลือกจากโรค อาการ และสาเหตุ หากเป็นการรักษาอาการปวดจากกล้ามเนื้อหดเกร็ง ที่เกิดจาก Trigger Point มาทำให้ปวด หมอเหมียวว่ารักษาด้วยวิธี Dry Needle นั้นได้ผลดีมากค่ะ เรียกว่าเจ็บแต่จบ หายจากระบมเรียกว่าเบาสบายเลย โล่งจริงๆ แต่หากเป็นการเจ็บปวดด้วยสาเหตุอื่น หรือเกิดจาก Function การทำงานของอวัยวะต่างๆไม่สมดุล วิธี Dry Needle อาจไม่ตอบโจทย์ ก็ใช้วิธีฝังเข็มแบบ Acupuncture เพื่อมาปรับการไหลเวียนของชี่ ก็จะได้ผลการรักษาที่ดีค่ะ หมอเหมียวอยากบอกว่า ไม่มีวิธีที่ดีที่สุด มีแต่วิธีที่เหมาะสมที่สุด เพื่อผลการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดค่ะ อยู่ที่เราเลือกใช้เครื่องมือไหนในการรักษามากกว่า เพราะการรักษาก็ต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ เราถึงเรียกว่าการประกอบโรคศิลปะยังไงคะ