You are currently viewing กระดูกต้นคอเสื่อม

กระดูกต้นคอเสื่อม

เรามาทำความรู้จัก โรคกระดูกต้นคอเสื่อม กันค่ะ

อาการของโรคกระดูกต้นคอเสื่อมที่ชัดๆคือ

ปวดคอ เคลื่อนไหวตัวได้ยาก และจะปวดมากขึ้นเวลานั่งหรือยืน

ปวดตรงกลางคอ ร้าวมาปวดที่สะบักด้านในบริเวณไหล่

ปวดร้าวลงแขนที่มือ แล้วมีอาการชาร่วมด้วย

จริงๆด้วยวิถีการใช้ชีวิตของคนสมัยนี้ ที่ต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานๆและใช้โทรศัพท์มือถือนานๆ หากไปตรวจละเอียดกันจริงๆ จะพบว่าหลายๆคนมีปัญหาเรื่องกระดูกต้นคอ ถึงแม้ว่าจะยังเป็นวัยรุ่นอยู่ก็ตาม แต่การแสดงอาการของโรคอาจแตกต่างกัน

กระดูกคอเสื่อม เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยวัยกลางคนและผู้สูงอายุ (แต่เดี๋ยวนี้วัยรุ่นก็เป็นกันเยอะค่ะ) โดยสาเหตุเกิดจากความเสื่อมของกระดูกคอและหมอนรองกระดูกคอ ซึ่งอาการจะเป็นมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น บางรายไม่แสดงอาการ บางรายมีอาการร่วมด้วยมากน้อยแตกต่างกัน

หากความเสื่อมเป็นมาก ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดหรือชา สาเหตุมาจากข้อต่อบริเวณคอเสื่อมและอักเสบ กล้ามเนื้อคอทำงานหนักมากขึ้น ช่องเส้นประสาทบริเวณคอปิดแคบลงทำให้เส้นประสาทถูกกดทับ รวมไปถึงการขยับของหมอนรองกระดูกคอที่ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม

โดยอาการที่เป็นไปได้จากกระดูกคอและหมอนรองกระดูกคอเสื่อม คือ

1. อาการปวดคอ สะบัก ร้าวไปที่แขน บางรายร้าวไปถึงมือ อาการสัมพันธ์กับท่าทางของคอโดยเฉพาะท่าหันและเงยศีรษะ

2. ปวดแปล๊บๆ เหมือนไฟดูด หรือมีอาการชาบริเวณดังกล่าว ร้าวไปที่แขนมือ หรือ บริเวณนิ้ว

3. มืออ่อนแรง ยกขวดน้ำ หรือแก้วน้ำไม่ไหว

4. ผู้ป่วยมีอาการเดินได้ลำบากขึ้น ทรงตัวได้แย่ลง หากเป็นมากขึ้นจะเดินช้าลงและเดินกางขาโดยไม่รู้ตัว

5. หากการกดทับเส้นประสาทเป็นไปมากแล้วผู้ป่วยจะไม่สามารถกกลั้นปัสสาวะหรือกลั้นอุจจาระได้

อาการเหล่านี้ มีสาเหตุได้จาก

1. ตัวหมอนรองกระดูกนั้นมีอาการเสื่อมร่วมกับเสียความยืดหยุ่น ส่งผลให้หมอนรองกระดูกมีความสูงที่ลดลง หากทรุดลงมากอาจพบกระดูกคอเกิดการสัมผัสกดกัน เกิดอาการปวดขึ้น

2. เกิดจากหมอนรองกระดูกคอมีการเคลื่อนหรือแตก ส่งผลให้ตัวเนื้อหมอนรองกระดูกนั้นไปทับเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดร้าว ชา หรืออ่อนแรงบริเวณสะบัก แขน หรือมือได้

3. ถัดไปคือกระดูกงอก เมื่อความเสื่อมเป็นไปมากขึ้น ตัวกระดูกคอจะมีการงอกออกมาเพื่อทดแทนความแข็งแรงของกระดูกคอและหมอนรองกระดูกคอที่เสื่อมไป กระดูกที่งอกออกมานี้เองที่จะกดทับต่อเส้นประสาทคอ หรือโคนเส้นประสาทคอ ส่งผลทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้

4. เกิดจากการตึงตัวและการอักเสบของตัวเอ็นที่อยู่รอบๆ ข้อต่อกระดูกคอ ส่งผลให้เกิดอาการปวดร้าวบริเวณคอ ได้โดยอาการจะสัมพันธ์กับท่าทางและกิจกรรมต่างๆ

การวินิจฉัยกระดูกต้นคอเสื่อม

วินิจฉัยจากอาการ ประวัติความเจ็บป่วยและตรวจร่างกาย ทำ X-Ray และ MRI โดยอาการเข้ากันกับหลักฐานจากภาพ X-Ray และ MRI

การฝังเข็มสามารถทุเลาอาการปวดและอาการชาจากกระดูกต้นคอเสื่อมได้เช่นกันค่ะ ปลอดภัยและได้ผลการรักษาค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ คนไข้สามารถลดการใช้ยาแก้ปวดได้ และใช้ชีวิตประจำวันได้โดยไม่เป็นอุปสรรค

โดยส่วนมากการรักษาอย่างน้อยที่สุดอยู่ที่ 6 ครั้ง และความถี่ในการมารับการรักษาคือทุกๆ 5-7 วัน

มารักษาตามนัดและแผนการรักษาที่วางไว้ รายละเอียดการรักษาขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

ปัจจัยการฟื้นตัวของคนไข้ขึ้นอยู่กับอาการของคนไข้ ระยะเวลาที่เป็น ความหนักเบาของอาการ อายุของคนไข้ โรคประจำตัวและความต่อเนื่องในการรักษาค่ะ ให้การผ่าตัดเป็นทางเลือกสุดท้ายนะคะ