มุมมองต่อโรคต่างๆในศาสตร์แพทย์แผนจีน

ปวดประจำเดือน

ผู้หญิงเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เริ่มมีประจำเดือน บางคนอาจจะเริ่มมีอาการปวดประจำเดือนตั้งแต่ครั้งแรกของการมีประจำเดือน บางคนเริ่มมามีอาการปวดประจำเดือนหลังการมีประจำเดือนครั้งแรกไปแล้วหลายปี บางคนอาการปวดประจำเดือนดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น หลังแต่งงานหรือหลังมีลูกแล้ว

อาการปวดประจำเดือนที่พบได้มากคือรู้สึกปวดบีบ ปวดเกร็ง ปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย บางคนลามไปถึงบริเวณอุ้งเชิงกราน บางคนอาจรู้สึกถึงบริเวณรูทวาร เหมือนอยากถ่ายท้องตลอดเวลา อาจจะปวดตั้งแต่วันแรกที่ประจำเดือนมา แล้วอาการดีขึ้นหลังจากนั้น หรือบางคนอาจรู้สึกปวดตลอดระยะเวลาของการมีประจำเดือน

ในมุมมองของแพทย์แผนปัจจุบัน สาเหตุของอาการปวดประจำเดือนที่พบได้มาก คือ

1.สภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ สภาวะนี้คือเยื่อบุโพรงมดลูกเติบโตนอกโพรงมดลูก ส่วนมากจะเกิดสะสมที่บริเวณรังไข่ หรือที่เรียกว่า ช็อกโกแลตซีส

2. เนื้องอกในมดลูก เนื้องอกเหล่านี้ไม่ใช่เนื้อร้าย จึงไม่ก่อให้เกิดเซลล์มะเร็งในมดลูก แต่ทำให้มีอาการปวดประจำเดือน หรือประจำเดือนมามาก

หากต้องการตรวจหาสาเหตุโดยละเอียด ส่วนมากจะทำโดยวิธีการตรวจอัลตร้าซาวน์ค่ะ

การรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน ส่วนใหญ่หลักๆจะแบ่งเป็น การใช้ยาบรรเทาอาการปวดประจำเดือน การใช้ยาคุมกำเนิด หรือจะเป็นการผ่าตัดในกรณีที่เกิดเป็นเนื้องอกในมดลูกหรือสภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเอาเองว่าจะใช้วิธีไหน ขึ้นอยู่กับอาการและพยาธิสภาพของผู้ป่วย

ทีนี้เรามาพูดถึงอาการปวดประจำเดือนในมุมมองของแพทย์แผนจีนกันบ้างค่ะ

ในมุมมองแพทย์แผนจีนนั้นอารมณ์ พลังงานในร่างกายล้วนส่งผลถึงกัน เนื่องจากเพศหญิงในแต่ละเดือนร่างกายล้วนมีการเปลี่ยนอยู่ตลอด การเปลี่ยนแปลงของร่างกายนั้นส่งผลต่ออารมณ์ และอารมณ์ก็ส่งผลต่อร่างกายเช่นกัน ส่งผลกันไปมา นอกจากนี้ปัจจัยภายนอกอย่างสภาพอากาศ การบริโภคอาหารยังเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการปวดประจำเดือน เช่น อากาศที่หนาวเย็น เย็นชื้น แล้วเราใส่เสื้อผ้าไม่พอ หรือการกินแต่อาหารเย็นๆ หรืออาหารที่มีฤทธิ์เย็นอย่างต่อเนื่อง ล้วนส่งผลให้มีอาการปวดประจำเดือนได้

แบ่งสาเหตุอาการปวดประจำเดือนในมุมมองแพทย์จีน

1. เกิดจากภาวะชี่และเลือดติดขัด อาการที่สังเกตุคือประจำเดือนมาแล้วมีลิ่มเลือดมาก คัดหน้าอกอย่างมาก

2. มีพิษความชื้นและความเย็นในร่างกาย อาการสังเกตุคือปวดท้องน้อย ขี้หนาว ประจำเดือนสีคล้ำ

3. ภาวะชี่และเลือดพร่อง พลังงานในร่าางกายไม่เพียงพอ รู้สึกเหนื่อยง่าย ปริมาณประจำเดือนน้อยกว่าปกติ

4. พลังงานของตับและไตพร่อง สังเกตุคือรู้สึกมีอาการปวดเมื่อยเอว หูอื้อ วิงเวียนศีรษะร่วมด้วย

อย่างไรก็ตามคนไข้แต่ละคนอาจจะไม่ได้มีสาเหตุการปวดประจำเดือนจากภาวะใดภาวะหนึ่งเท่านั้น แต่อาจจะเป็นหลายๆภาวะร่วมกัน ต้องมาวินิจฉัยกันต่อไป

ทีนี้มาดูแนวทางการรักษากันบ้างค่ะ การรักษาทางแพทย์แผนจีนจะสามารถรักษาโดยการฝังเข็มได้ เพื่อบรรเทาอาการปวด ปรับสมดุลการไหลเวียนของพลังงานในร่างกาย หรือจะเป็นการใช้ยาสมุนไพรจีน ซึ่งจะใช้ตำหรับยาใดนั้นก็ต้องมาดูที่สาเหตุว่าอาการปวดเกิดจากอะไร

แนวทางการดูแลตนเองเบื้องต้น คือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะช่วยปรับสมดุลการหลั่งฮอร์โมนในร่างกายได้ ช่วยให้อารมณ์ดี ทานอาหารให้ครบห้าหมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอ การเลือกรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่มีฤทธิ์เย็น การทานของเย็นในช่วงที่ประจำเดือนใกล้จะมา หรือช่วงที่มีประจำเดือน ใส่เสื้อผ้าให้อบอุ่นเพียงพอเวลาที่อยู่ในที่ที่อากาศเย็น หรือการประคบถุงน้ำร้อนก็พอจะช่วยผ่อนคลายการเกร็งตัวของมดลูก ช่วยบรรเทาอาการปวดได้บ้างค่ะ

โรคอ้วน

ปัญหาที่พบได้มากขึ้นเรื่อยๆในยุคสมัยนี้ สาเหตุจากการดำเนินชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน ที่บริโภคอาหารมากขึ้น ทั้งอาหารแปรรูปต่างๆ อาหารสะดวกซื้อจำพวกแป้ง น้ำตาล ไขมัน เกินความต้องการของร่างกาย ประกอบกับทำงานหนักจนไม่มีเวลา หรือเหนื่อยเกินกว่าจะออกกำลังกาย จนทำให้มีไขมันสะสมในร่างกายมากเกินไป ส่งผลต่อสุขภาพ และยังเป็นสาเหตุนำไปสู่โรคต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ไขมันอุดตันในหลอดเลือด ไขมันพอกตับ ปวดเข่า ปวดข้อต่างๆ เป็นต้น ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายตามมาในการรักษาตนเอง สูญเสียความมั่นใจ และสูญเสียโอกาสในการทำงาน

เกณฑ์กำหนดในการวินิจฉัยโรคอ้วนสำหรับคนเอเชีย

การใช้รอบเอวคัดกรองภาวะอ้วนลงพุง หมายถึง มีการสะสมของไขมันในช่องท้องและอวัยวะภายในมาก ซึ่งรอบเอวในผู้ชายไม่ควรเกิน 90 เซนติเมตร ในผู้หญิงไม่ควรเกิน 80 เซนติเมตร หรือไม่ควรเกินครึ่งหนึ่งของส่วนสูง เช่น คนสูง 170 ซม. รอบเอวไม่ควรเกิน 85 ซม. ในคนเอเชียอ้วนลงพุงมีความสำคัญโดยเฉพาะในรายที่ดัชนีมวลกาย(ค่า BMI)อยู่ระหว่าง 25 – 30 เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคที่สัมพันธ์กับโรคอ้วนมากกว่าคนที่มีน้ำหนักมากเพียงอย่างเดียว (บางคนน้ำหนักมาก เพราะมีมวลกล้ามเนื้อเยอะ) นอกจากนี้ยังมีอาการเหนื่อยง่าย เหนื่อยหอบ ง่วงนอนมากกว่าปกติ กินจุ เหงื่อออกง่าย ขี้ร้อน ในผู้หญิงอาจมีภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ

สาเหตุของโรคอ้วน

ส่วนใหญ่เกิดจากการบริโภคอาหารมากจนเกินไป ออกกำลังกายน้อยเกินไป จนเกิดไขมันสะสม อายุที่มากขึ้น ทำให้การเผาผลาญลดลง การใช้ยาบางกลุ่มยังส่งผลให้เกิดโรคอ้วนได้ เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยาคุมกำเนิด เป็นเวลานาน เป็นต้น นอกจากนี้กรรมพันธุ์ยังมีผลต่อการเป็นโรคอ้วน แต่เป็นส่วนน้อย

มุมมองของแพทย์แผนจีนต่อโรคอ้วน

ในมุมมองของแพทย์แผนจีนนั้น มองว่าสาเหตุของโรคอ้วนเป็นไปได้หลายอย่าง ทั้ง

1. กระเพาะอาหารและม้ามมีความร้อนสะสมไว้มาก ทำให้กินจุ หิวบ่อย

2. มีเสมหะและความชื้น ของเสียสะสมมาก ทำให้อ้วนง่าย วิงเวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย รู้สึกตัวหนัก ขี้เกียจลุก

3. พลังงานชี่ของม้ามพร่อง (ชี่คืออะไร ตามได้ในโพสต์ก่อนๆนะคะ) ทำให้ระบบย่อยพร่อง ท้องอืดง่าย ทานนิดเดียวก็อ้วนได้ง่าย (เปรียบเทียบเป็นพลังงานในการย่อยไม่พอ)

4. พลังงานชี่ของม้ามและไตพร่อง (การทำงานของม้ามและไตในแพทย์แผนจีนจะแตกต่างกับมุมมองของแพทย์แผนปัจจุบัน) อาจเกิดจากอายุที่มากขึ้น ทำให้ง่วงเหงาหาวนอน เหนื่อยง่าย บวมน้ำ การเผาผลาญลดลง

5. ชี่และเลือดติดขัด ทำให้รู้สึกอึดอัดตัว หงุดหงิด อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย นอนไม่ค่อยหลับ เป็นต้น

สาเหตุโรคอ้วนในมุมมองของแพทย์แผนจีนอาจไม่ใช่แค่ปัจจัยข้อใดข้อหนึ่งเท่านั้น แต่อาจเป็นได้จากหลายๆสาเหตุรวมกัน

แนวทางการรักษา

การรักษาหลักๆของแพทย์แผนจีนนั้น สามารถทำได้โดยการฝังเข็ม ทั้งที่ตัวและที่หู จากประสบการณ์การรักษาของหมอเหมียว คนไข้ที่มารักษาโดยการฝังเข็มจะรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น ทานน้อยลง นอนหลับได้ดีขึ้น ประจำเดือนมาปกติมากขึ้น(ในกรณีคนที่มีปัญหาเรื่องประจำเดือนร่วมด้วย) ระบบเผาผลาญดีขึ้น สัดส่วนค่อยๆลดลง ตามมาด้วยน้ำหนักค่อยๆลดลง (ผลการรักษาขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล) การใช้ยาสมุมไพรจีนร่วมด้วย ช่วยในการปรับสมดุลการทำงานของอวัยวะภายใน หากเกิดจากภาวะชี่พร่อง ก็ใช้ยาเสริมพลังชี่ หากเกิดจากภาวะมีเสมหะชื้นสะสม ก็ใช้ยากระตุ้นการทำงานของม้าม ให้สลายเสมหะ  ลดความชื้น หรือหากมีความร้อนสะสมในกระเพาะอาหารมากเกินไป ก็ระบายความร้อนของกระเพาะให้ลดลง เป็นต้น ทั้งนี้ทั้งนั้น การใช้ยาและการฝังเข็ม ถือเป็นเพียงตัวช่วยในการรักษาเท่านั้น ข้อสำคัญคือการปฏิบัติตนที่จะช่วยให้การลดน้ำหนักเป็นไปอย่างยั่งยืน

แนวทางการปฏิบัติตน

เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระยะยาว อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับวิถีการใช้ชีวิตของแต่ละคนเป็นหลักค่ะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนพอจะทราบดีอยู่แล้ว คือการทานอาหารที่มีประโยชน์ พยายามปรุงรสให้น้อย ไม่ทานรสจัด ทานอาหารที่แปรรูปให้น้อย เน้นผัก ผลไม้สด ตามธรรมชาติ ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน จนหัวใจเริ่มเต้นเร็วขึ้น  อาจจะเป็นการเดินเร็ว วิ่งเหยาะๆ  อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 วัน สลับกับการออกกำลังกายแบบเพิ่มกล้ามเนื้อ เช่น Body weight training หรือ พิลาทิส เป็นต้น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ทำจิตใจให้แจ่มใส บริหารความเครียดจากการทำงาน เท่านี้ก็ห่างไกลทั้งจากโรคอ้วน และยังทำให้ห่างไกลจากโรคอื่นๆอีกด้วย ประหยัดค่าใช้จ่ายในการพบหมอ มีสุขภาพที่แข็งแรง ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ

Scroll to Top